ประเทศไทยเปิดเกมรุกจัด THECA 2025 สู่มหาอำนาจในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชีย
กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ร่วมกับ สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย และสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ฮ่องกง ประกาศจุดยืน “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก” ผ่านเวทีแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชีย หรือ Thailand Electronics Circuit Asia (THECA 2025) พร้อมพลิกโฉมประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตและนวัตกรรมวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งาน THECA 2025 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 22 สิงหาคม พ.ศ. 2568 ณ อาคาร EH99 – 100 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ บนพื้นที่จัดแสดงที่ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 ตารางเมตร หรือมากกว่าปีก่อนถึงสองเท่า งานนี้ตั้งเป้าเพื่อต้อนรับ 500 บริษัทชั้นนำจากอุตสาหกรรม และคาดว่าจะดึงดูดผู้เข้าชมงานและนักลงทุนกว่า 7,000 รายจากทั่วโลก มาร่วมสำรวจนวัตกรรม เทคโนโลยี และโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB)


กระแสการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก และการกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศต่าง ๆ ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่จำเป็นต้องมองหาฐานการผลิตใหม่ที่มีความยืดหยุ่น เข้าถึงได้ง่าย และมีระบบสนับสนุนที่ครบวงจร ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB)ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีขั้นสูงในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น EV, IoT, AI, อุปกรณ์การแพทย์ ไปจนถึงระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม
นายนฤชา ฤชุพันธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และเจ้าภาพการจัดงาน THECA 2025 กล่าวถึงบทบาทรัฐบาลไทยมุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งใน 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ภายใต้แผน “Thailand 4.0” และ “Industry 5.0” ที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่ง PCB ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดที่สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรม ใหม่ ๆ อาทิ EV, IoT, AI, อุปกรณ์การแพทย์ และระบบอัตโนมัติ ทำให้อุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ในอาเซียนและอยู่ในกลุ่มผู้นำระดับโลก จากการย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิต PCB มายังประเทศไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ PCB ชนิด High Density Interconnect และชนิด Multilayer ที่นำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีสูง ซึ่งช่วยสนับสนุนการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม PCB ในประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต PCB ที่ครบวงจร ปัจจุบัน 80% ของ PCB ที่ผลิตในไทยถูกส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น จีน, สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตและส่งออกในระดับสากล นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมี แผนพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ซึ่งช่วยให้บริษัทข้ามชาติที่ต้องการผลิต PCB ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเลือกใช้ไทยเป็นฐานการผลิต และการพัฒนาบุคลากร ยกระดับทักษะการปฏิบัติงานของบุคลากร ในภาคอุตสาหกรรมผ่านการ Upskill และ Reskill เพื่อเตรียมความพร้อมของแรงงาน รองรับความต้องการแรงงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 80,000 คน ในช่วง 2 ปีข้างหน้า



“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทชั้นนำจากหลายประเทศได้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของเศรษฐกิจในอนาคต สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ที่มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ ทำให้มีโครงการลงทุนจำนวนมาก หากพิจารณาเฉพาะกลุ่ม PCB พบว่า มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในปี 2567 ทั้งหมดจำนวน 81 โครงการ มูลค่าประมาณ 99,228 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรม PCB ไทยจะมีส่วนแบ่งตลาดจะเพิ่มขึ้นจาก 4% เป็น 10% ในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า ตอกย้ำศักยภาพของไทยในการก้าวสู่ศูนย์กลางการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะแห่งใหม่ในภูมิภาคอาเซียน และเพิ่มโอกาสให้กับอุตสาหกรรมในประเทศที่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ซึ่งงานแสดงสินค้า Thailand Electronics Circuit Asia เป็นมากกว่างานแสดงสินค้า แต่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เปิดโอกาสให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเทคโนโลยีของโลก ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” นายนฤชา กล่าว
การจัดงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ออโรเม็กซ์ จำกัด และบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับงาน THECA 2025 ตอกย้ำบทบาทของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตอิเล็กทรอนิกส์แห่งใหม่ของเอเชีย ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่แข็งแกร่ง โดยเน้นการผลักดันเทคโนโลยี EV, AI และระบบอัตโนมัติอัจฉริยะ งานนี้ไม่ได้เป็นเพียงเวทีแสดงสินค้า แต่เป็นแพลตฟอร์มเชิงกลยุทธ์ที่มุ่งพัฒนาเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน เสริมสร้างทักษะแรงงาน และวางรากฐานระบบนิเวศเพื่ออนาคตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกอย่างยั่งยืน